วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558

กล้วย


กล้วย


"กล้วย” เป็นพืชที่นิยมปลูกกันทั่วไปตามบ้านเรือน ควบคู่กับวิถีชีวิตของ คนไทยมาเป็นเวลาช้านาน เพราะนอกจากจะนำผลมาใช้เป็นอาหารแล้ว ส่วน อื่นๆ ของลำต้นยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ใบใช้ห่อของ ปลี ใช้เป็นอาหาร ลำต้นใช้เป็นอาหารสัตว์ ใช้ทำเชือกประดิษฐ์หัตถกรรม และใช้ ทำเป็นกระทงที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมในวันลอยกระทงอีกด้วย กล้วยมีชื่อ ทางวิทยาศาสตร์ว่า Musa sapientum Linn. อยู่ในวงศ์ Musaceae เป็นไม้ ล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน อายุหลายปี ลำต้นบนดินรูปทรงกระบอก เกิดจากกาบ หุ้มซ้อนกันสูง 2-4 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับซ้อนกันรอบต้นที่ปลาย ยอด เป็นรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-4.5 เมตร ยาว 1-2 เมตร ก้านใบค่อนข้าง กลมหนา ด้านบนเป็นร่องลึก ผิวใบเรียบมัน ท้องใบมีสีอ่อนกว่า มีนวล ดอก ออกเป็นช่อในลักษณะห้อยหัวลง ยาว 30-60 ซม. เรียกว่า ปลี ออกที่ปลาย ยอด มีใบประดับหุ้มช่อ ดอกสีแดงหรือสีม่วง ขนาดใหญ่ เรียกว่า กาบ ดอกย่อย ออกเรียงกันเป็นแผง มีกาบหุ้มรองรับอยู่ โดยดอกที่อยู่ส่วนปลายช่อ เป็นดอก ตัวผู้ ดอกที่โคนช่อเป็นดอกตัวเมีย ผลจึงออกเป็นช่อ เรียกว่า เครือ แต่ละช่อย่อย เรียกว่า หวี กล้วยหวีหนึ่งมีประมาณ 10 ผล เป็นผลสดกลมยาว ขนาด รูปร่าง และรสขึ้นอยู่กับพันธุ์ เนื้อกล้วยมีสีเหลืองครีม เมื่อสุกมีรสหวานรับประทาน ได้ มักไม่มีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อหรือแยกเหง้า ไม่ชอบดินที่มีน้ำ ขัง จะอยู่ในดินร่วนซุยและดินเหนียวที่อุ้มน้ำได้ดี ในตำรายาไทยกล่าวถึง สรรพคุณของกล้วย ในการใช้บำบัดรักษาโรคต่างๆ

ประวัติของกล้วย



กล้วยเป็นไม้ผลที่คนไทยรู้จักกันมานาน เนื่องจากกล้วยมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า กล้วยมีวิวัฒนาการถึง 50 ล้านปีมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไม้ผลที่มนุษย์รู้จักบริโภคเป็นอาหารกันอย่างแพร่หลาย เชื่อกันว่ากล้วยเป็นไม้ผลชนิดแรกที่มีการปลูกเลี้ยงไว้ตามบ้าน และได้แพร่พันธุ์จากเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังดินแดนอื่นๆ ในระยะเวลาต่อมา

          กล้วยมีการปลูกกันมากในเอเชียใต้ แม้ในปัจจุบัน ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีการปลูกกล้วยมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์กล้วยมากมายอีกด้วย เหมาะสมกับที่มีการกล่าวกันไว้ในหนังสือของชาวอาหรับว่า “กล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย” ต่อมาได้มีหมอของจักรพรรดิโรมันแห่งกรุงโรมชื่อว่า แอนโตนิอุส มูซา (Antonius Musa) ได้นำหน่อกล้วยจากอินเดียไปปลูกทางตอนเหนือของอียิปต์ เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นมีการแพร่ขยายพันธุ์กล้วยไปในดินแดนของแอฟริกาที่ชาวอาหรับเข้าไปค้าขายและพำนักอาศัย จนกระทั่งเมื่อประมาณ ค.ศ. 965ได้มีการกล่าวถึงกล้วยว่า ใช้ในการประกอบอาหารชนิดหนึ่งของชาวอาหรับ ซึ่งอร่อยและเป็นที่เลื่องลือมาก ชื่อว่า กาลาอิฟ (Kalaif) เป็นอาหารที่ปรุงด้วยกล้วย เมล็ดอัลมอนด์ น้ำผึ้ง ผสมกับน้ำมันนัต (Nut oil) ซึ่งสกัดจากผลไม้เปลือกแข็งชนิดหนึ่ง นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้ว ชาวอาหรับยังใช้กล้วยทำยาอีกด้วย ชาวอาหรับเรียกกล้วยว่า “มูซา” ตามชื่อของหมอที่เป็นผู้นำกล้วยเข้ามาในอียิปต์เป็นครั้งแรก

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ชาวโปรตุเกสได้เดินเรือไปค้าขายบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา และได้นำกล้วยไปแพร่พันธุ์ที่หมู่เกาะคะแนรี ซึ่งตั้งอยู่นอก ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป หลังจากนั้น ชาวสเปนจึงได้นำกล้วยจากหมู่เกาะ คะแนรีเข้าไปปลูกในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก นอเมริกากลาง โดยเริ่มปลูกที่อาณานิคมซันโตโดมิงโก บนเกาะฮิสปันโยลา เป็นแห่งแรก แล้วขยายไปปลูกที่เกาะอื่นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ดินแดนในอเมริกากลางมีการปลูกกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจกันอย่างแพร่หลาย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นแหล่งปลูกกล้วยส่งเป็นสินค้าออกมากที่สุดของโลก โดยปลูกมากในประเทศคอสตาริกา และประเทศฮอนดูรัส

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

กล้วยมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่สำคัญๆ ดังนี้

- ลำต้น กล้วยมีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า หัว หรือเหง้า (rhizome) ที่หัวมีตา (bud) ซึ่งจะเจริญเป็นต้นเกิดหน่อ (sucker) หลายหน่อ เรียกว่า การแตกกอ หน่อที่เกิด หรือต้นที่เห็นอยู่เหนือดิน ความจริงแล้วมิใช่ลำต้น เราเรียกว่า ลำต้นเทียม (pseudostem) ส่วนนี้เกิดจากการอัดกันแน่นของกาบใบที่เกิดจากจุดเจริญของลำต้นใต้ดิน กาบใบจะชูก้านใบ และใบ และที่จุดเจริญนี้จะมีการเจริญเป็นดอกตามขึ้นมาหลังจากสิ้นสุดการเจริญของใบ ใบสุดท้ายก่อนการเกิดดอก เรียกว่า ใบธง

- ดอก ดอกของกล้วยออกเป็นช่อ (inflorescence) ในช่อดอกยังมีกลุ่มของช่อ ดอกย่อยเป็นกลุ่มๆ ระหว่างกลุ่มของช่อดอกย่อยแต่ละช่อจะมีกลีบประดับ หรือที่เราเรียกกันว่า กาบปลี (bract) มีสีม่วงแดงกั้นไว้ กลุ่มดอกเพศเมียอยู่ที่โคน และกลุ่มดอกเพศผู้อยู่ที่ปลาย เป็นส่วนที่เราเรียกว่า หัวปลี (male bud) ระหว่างกลุ่มดอกเพศเมียและดอกเพศผู้มีดอกกะเทย แต่บางพันธุ์ก็ไม่มี ในช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกเรียงซ้อนกันอยู่ 2 แถว ถ้าเป็นดอกเพศเมีย ดอกเหล่านี้จะ เจริญต่อไปเป็นผล

- ผล ผลกล้วยเกิดจากดอกเพศเมีย ซึ่งอยู่ที่โคน กลุ่มของดอกเพศเมีย 1 กลุ่ม เจริญเป็นผล เรียกว่า 1 หวี ช่อดอกเจริญเป็น 1 เครือ ดังนั้นกล้วย 1 เครืออาจมี 2 - 3 หวี หรือมากกว่า 10 หวี ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์กล้วยและการดูแล ผลของกล้วยมีการเจริญได้โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ จึงทำให้กล้วยส่วนใหญ่ไม่มีเมล็ด

- เมล็ด เมล็ดกล้วยมีลักษณะกลมเล็ก บางพันธุ์มีขนาดใหญ่ เปลือกหนา แข็ง มีสีดำ

- ราก เป็นระบบรากฝอย แผ่ไปทางด้านกว้างมากกว่าทางแนวดิ่งลึก

- ใบ ใบกล้วยมีลักษณะเป็นแผ่นใบใหญ่ มีความกว้างประมาณ 70 -  90 เซนติเมตร ความยาว 1.7 - 2.5 เมตร ปลายใบมน รูปใบขอบขนาน โคนใบมน และแผ่นใบมีสีเขียว



ชนิดของกล้วย

       หากสามารถรวบรวมพันธุ์กล้วยทั่วโลกมาปลูกไว้ในที่เดียวกันสวนกล้วยแปลงนั้นคงต้องใช้เนื้อที่มาก เพราะกล้วยมีสายพันธุ์หลายร้อยพันธุ์ เฉพาะในประเทศไทยก็มีถึง 323 สายพันธ์ ทดลองปลูกได้แล้ว 59 สายพันธุ์ ทั้งที่เป็นกล้วยป่า กล้วยในท้องถิ่น พันธุ์ที่นำมาจากต่างประเทศ พันธุ์กล้วยที่รู้จักกันทั่วไปมีมากมาย เช่น

- กล้วยป่า

- กล้วยตานี ผลใหญ่มีเมล็ดมาก

- กล้วยน้ำไทหรือกล้วยหอมเล็ก

- กล้วยไข่ในประเทศไทยนิยมปลูกมากที่จังหวัดกำแพงเพชร จึงมีคนเรียกว่ากล้วยไข่กำแพงเพชร

- กล้วยหอมจันทร์

- กล้วยนมสาว พบทางภาคใต้

- กล้วยร้อยหวี มีผลมาก ผลขนาดเล็ก

- กล้วยหอมทองผลใหญ่

- กล้วยหอมใต้หวัน มีผลดกกว่ากล้วยหอมทอง

- กล้วยหอมเขียวค่อม ผลสุกโดยธรรมชาติจะมีสีเขียว แต่ถ้าบ่มถูกวิธีก็จะมีสีเหลือง

- กล้วยนากมีผลใหญ่

- กล้วยน้ำ

- กล้วยขม

- กล้วยน้ำว้า ถ้าแบ่งตามไส้จะมี 3 ชนิด คือ ชนิดไส้ตรง ชนิดไส้เหลือง และชนิดไส้แดง

- กล้วยหักมุก ลักษณะผลเป็นเหลี่ยมชัดเจน เปลือกหนา

- กล้วยส้ม ลักษณะคล้ายกล้วยหัวมุก แต่ผลเล็กกว่า

- กล้วยนิ้วมือนาง ผลค่อนข้างใหญ่ ลักษณะอ้วนป้อม

- กล้วยหิน มีมากทางภาคใต้ มีผลดกคล้ายกล้วยตานี

- กล้วยเปรี้ยว มีรสค่อนข้างเปรี้ยว

- กล้วยแพ ลักษณะใบแผ่ออกไปคล้ายพัด

- กล้วยบัว ลักษณะหัวปลีคล้ายดอกบัว ต้นขนาดเล็ก มักใช้เป็นไม้ประดับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น